วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

ยินดีต้อนรีบน้องๆกระต่าย..สู่บ้านใหม่


หลังจากที่เราได้เรียนรู้เรื่องของการเลือกซื้อกระต่าย และจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงกระต่ายได้ครบถ้วนแล้ว ก็มาถึงเรื่องสำคัญที่สุดในการเริ่มต้นที่ดีกับกระต่ายสมาชิกใหม่ในบ้านหลังน้อยของเรา การเริ่มต้นที่ดีจะช่วยให้การฝึกกระต่ายเป็นเรื่องน่าสนุก มาดูกันว่ามีเรื่องใดที่เราต้องให้ความสำคัญกับบ้านใหม่ของกระต่าย


๐ บ้านในฝันของกระต่าย ๐
กระต่ายก็ต้องการบ้านในฝันเช่นกัน การเลือกกรงที่ใช้สำหรับเลี้ยงกระต่ายนั้นควรเลือกกรงที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวกระต่ายเมื่อโตเต็มวัย 4 เท่า เป็นอย่างน้อย เพราะกระต่ายต้องการพื้นที่ไว้สำหรับกิจกรรมส่วนตัว ทั้งออกกำลังกาย นอน ขับถ่าย ซึ่งทั้งหมดนั้นเราควรจัดแบ่งเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อเป็นการฝึกให้กระต่ายได้ใช้พื้นที่ให้เหมาะสมและมีสุขอนามัยที่ดี ดังเช่น ส่วนที่เป็นเรื่องของการขับถ่ายควรเลือกมุมกรงด้านใดด้านหนึ่งไว้โดยเฉพาะ พื้นที่ที่ใช้สำหรับนอนอาจทำเป็นโพรงไม้ขนาดให้พอดีกับกระต่ายเพื่อใช้เป็นที่สำหรับการหลับนอนก็เอาไว้อีกมุมหนึ่ง พื้นที่ที่ให้อาหารก็ควรจัดรวมไว้อีกมุมหนึ่งของกรง เพื่อสุขภาพที่ดีของกระต่าย

๐ จัดสถานที่ให้ปลอดภัย ๐
ตำแหน่งที่เราใช้วางกรงเพื่อให้กระต่ายอยู่อย่างสงบนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด กระต่ายเป็นสัตว์ที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่สงบและปลอดภัย สถานที่ที่ใช้เลี้ยงกระต่ายต้องปลอดภัยจาก แสงแดด ละอองฝน และลมพัดโกรกตลอดวัน ตำแหน่งที่เหมาะสมคือสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สงบไม่มีการรบกวนจากเสียงต่าง ๆ รอบด้าน และต้องให้มั่นใจว่ากระต่ายจะปลอดภัยจากสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์อันตรายต่าง ๆ เช่น สุนัข แมว มด และงู ที่อาจเข้ามาทำร้ายกระต่ายได้ เมื่อเราหาทำเลเหมาะ ๆ ได้แล้ว ก็เริ่มจากการประกอบอุปกรณ์การเลี้ยงกันเลย

๐ จัดอุปกรณ์ให้เข้าที่เข้าทาง ๐- ประกอบกรงพร้อมทั้งจัดวางให้แน่นหนา
- นำอาหารเม็ดใส่ในกระถางใส่อาหาร
- นำขวดน้ำเติมน้ำให้เต็มแล้วแขวนไว้ในตำแหน่งที่กระต่ายสามารถดูดได้ถนัด
- ประกอบที่แขวนหญ้าไว้ในตำแหน่งต่ำกว่าขวดน้ำดื่มเล็กน้อย
- นำโพรงไม้ใส่ไว้ให้กระต่ายได้ใช้นอน

๐ นำกระต่ายเข้าบ้านใหม่ ๐
จับกระต่ายด้วยความนุ่มนวล นำกระต่ายใส่ไว้ภายในกรง จากนั้นปิดประตูกรงให้แน่นหนา และให้เวลากับกระต่ายได้ใช้สัญชาตญาณในการสำรวจที่อยู่ใหม่ของเค้า อย่าเพิ่งไปเล่นหรือรบกวนกระต่าย ถึงตอนนี้เราก็เริ่มเรียกชื่อเพื่อให้เค้าได้คุ้นเคยกับชื่อใหม่ได้แล้วเรื่องชื่อกระต่ายก็สำคัญไม่น้อย ควรเป็นชื่อที่มีไม่เกิน 3 พยางค์ เพราะหากเกินกว่านั้นจะเป็นอุปสรรคในการฝึกให้กระต่ายจดจำชื่อของตนเอง หลังจากนั้นปล่อยกระต่ายไว้ในกรงสัก 1-2 วัน โดยไม่อุ้มหรือปล่อยให้ออกมาเล่นนอกกรง เพื่อให้กระต่ายได้ทำความคุ้นเคยกับกรงของตนเอง ระหว่างนี้หากต้องการเล่นกับกระต่ายให้เล่นด้วยการนำอาหาร เช่น หญ้าแห้ง แครอทหรือผักสดป้อนให้เค้า เพื่อฝึกให้กระต่ายได้คุ้นเคยกับกลิ่นของเรา ระหว่างนี้ก็ให้พูดคุยเรียกชื่อกระต่ายบ่อย ๆ ห้ามอุ้มหรือปล่อยให้ออกมาวิ่งเล่น จำไว้ว่าเสียงดังจะทำให้กระต่ายตื่นกลัวและต้องใช้เวลานานมากขึ้นในการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ ดังนั้นการเริ่มต้นที่ดีจะช่วยให้กระต่ายปรับตัวได้ดี และรวดเร็วยิ่งขึ้น


วิธีการเลือกซื้อกระต่าย

กระต่ายกลับมาบ้านแล้วเลี้ยงไปเลี้ยงมา ไม่กี่วันก็เสียชีวิตโดยไร้สาเหตุ จึงเกิดคำร่ำลือมากมายว่ากระต่ายเลี้ยงยากตายง่าย ทำให้หลาย ๆ คนเลิกคิดที่เลี้ยงกระต่ายไปเลย แต่โดยความเป็นจริงแล้วกระต่ายไม่ใช่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงยากอย่างนั้นเลย จริงๆแล้ว กระต่ายเป็นสัตว์ที่แข็งแรงและอดทนมาก ฉะนั้นต่อไปนี้เราจะมาดูกันว่า ครั้งต่อไปเวลาเราจะเลือกกระต่ายสวยและสุขภาพดีกลับบ้าน จะต้องทำอย่างไรบ้าง ...

1.สถานที่ขาย
เบื้องต้นต้องดูเรื่องของความสะอาด หากเป็นร้านจำหน่ายทั่วไปดูได้จากการจัดการร้าน ควรจะสะอาด กระต่ายในร้านควรมีสุขภาพดี มีความตื่นตัวสูง หากเป็นฟาร์ม โรงเรือนต้องถูกสุขลักษณะ มีการจัดการเรื่องของสุขาภิบาลอย่างถูกต้อง กระต่ายในฟาร์มต้องสมบูรณ์ไม่มีตัวใดตัวหนึ่งเป็นโรค เพราะฟาร์มนั้นเลี้ยงกระต่ายร่วมกันมากมายหากตัวใดเป็นโรค โอกาสในการแพร่เชื้อจะสูงตามไปด้วย ควรซื้อกระต่ายจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และต้องมีการรับประกันสุขภาพ เช่น ใบรับรองสุขภาพ รวมทั้งต้องมี ใบเพ็ดดีกรีด้วย ซึ่งจะต้องบอกรายละเอียด วันเดือนปีเกิดของตัวกระต่ายเอง รวมถึง รายละเอียดของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย 3 รุ่นขึ้นไป

2.สุขภาพ
การเลือกกระต่ายสุขภาพดีสำคัญมากกว่าสีสัน ลวดลาย หรือสิ่งใดๆ การที่จะรู้ได้ว่ากระต่ายมีสุขภาพดีหรือไม่ เรามีวิธีที่สามารถตรวจสอบด้วยตนเอง โดยใช้วิธีตรวจสอบในจุดหรืออวัยวะส่วนต่าง ๆ ของกระต่ายดังนี้ คือ

ตา
ดวงตากระต่ายต้องสดใส ปราศจากขี้ตา มองดูสีตาต้องถูกต้องตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์และสีตัว ไม่มีโรคเกี่ยวกับสายตา เช่น ต้อกระจก ผิวหนังรอบ ดวงตาต้องไม่เป็นสะเก็ดหรือร่องรอยบาดแผล รวมทั้งไม่มีเชื้อรารอบดวงตาด้วย

จมูก
โพรงจมูกกระต่ายต้องปกติ ไม่มีร่องรอยของอาการหวัด เช่นมีน้ำมูกเกรอะกรัง ปกติจมูกกระต่าย จะมีลักษณะที่เปียกนิดหน่อย แต่ไม่ควรชื้นแฉะเพราะนั่นคืออาการของไข้หวัด

ปาก-ฟัน
สิ่งสำคัญที่จะต้องดูเป็นพิเศษก็คือ ปากและฟัน เปิดปากกระต่ายเพื่อตรวจดูฟันซี่หน้า ต้องสบกันพอดี ฟันหน้าคู่บนต้องอยู่ด้านหน้าของฟันหน้าคู่ล่างเล็กน้อย แต่ต้องไม่มีอาการเอียง เก ยื่น บิดเบี้ยว หรือแตกหัก การตรวจฟันกระต่ายสำคัญมากเพราะกระต่ายอายุน้อยจะยังไม่แสดงอาการไม่พึงประสงค์หรือโรคทางพันธุกรรมออกมา แต่เมื่อคุณเลี้ยง ๆ ไป อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ แสดงออกมา และจะกลายเป็นฝันร้ายสำหรับคุณไปตลอด เพราะการดูแลกระต่ายที่มีฟันผิดปกติเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสมาก คุณต้องตัดฟันกระต่ายเองหรือให้สัตวแพทย์ตัดให้ทุก 2 สัปดาห์ เพราะกระต่ายที่เป็นโรคฟันยื่นจะทานอาหารได้ลำบากมาก

หู
ตรวจดูใบหูต้องสะอาด มองดูในรูหูต้องไม่มีขี้หูอุดตัน เพราะอาจเป็นรังของตัวเห็บไรได้

ท้อง
ตรวจดูขนบริเวณใต้ท้องต้องแน่นและปกคลุมมองไม่เห็นหนังท้องใส เพราะอาจเป็น โรคพยาธิ หรือโรคอื่น ๆ ที่ยังไม่แสดงอาการออกมา

เท้า
ตรวจดูเท้าทั้ง 2 คู่ ต้องเดินและกระโดดเป็นปกติ ไม่มีอาการแบะหรือถ่าง ขนใต้เท้าคู่หลังทั้งสองข้างต้องหนาและไม่มีแผลบริเวณใต้เท้า

เล็บ
เล็บเท้าต้องมีครบทุกนิ้ว กระต่ายมีนิ้วทั้งหมด 18 นิ้ว ขาหน้ามีข้างละ 5 นิ้ว ในขณะที่ขาหลังมีข้างละ 4 นิ้วเท่านั้น สีของเล็บต้องถูกต้องตามสายพันธุ์ หนังหุ้มเล็บต้องไม่ตกสะเก็ดเป็นแผลหรือเป็นเชื้อรา หรืออักเสบเป็นผื่นคัน

ขน
กระต่ายสุขภาพดีต้องมีขนเป็นมันสลวยไม่หยาบกร้านหรือหลุดร่วงง่าย สังเกตุจากความแน่นหนาของขน สีสันต้องชัดเจน ผิวหนังใต้ขนต้องไม่มีสะเก็ดแผล ผื่นคัน หรือแข็งกระด้าง คุณสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ใช้มือลูบขนเพื่อตรวจสอบผิวหนังใต้ขนในจุดต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งหากคุณกำลังจะซื้อกระต่ายสายพันธุ์ที่มีขนยาว ขนที่ยาวนั้นสามารถซ่อนสิ่งต่าง ๆ ไว้ได้มากมาย

ลำตัว
จับบริเวณลำตัวกระต่ายเนื้อต้องแน่น เวลาคลำดูกระดูกสันหลังต้องไม่ปูดโปน กระต่ายต้องไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป เนื้อสะโพกต้องเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ

ลักษณะโดยทั่วไป
กระต่ายที่สุขภาพดีจะต้องร่าเริง ตื่นตัว และดูแลทำความสะอาดตัวเองอยู่เสมอ กระต่ายที่เป็นโรคจะเก็บตัวนอนนิ่ง ๆ ไม่ค่อยวิ่งซุกซน มีอาการซึม